สาเหตุที่ควรทำความสะอาดถังเก็บน้ำ (แทงค์น้ำ)
ถึงแม้ว่าในระบบประปามีคลอรีนอิสระมากเพียงพอในการฆ่าเชื้อโรค แต่เมื่อน้ำถูกกักเก็บไว้ในถังเก็บน้ำเป็นเวลานาน คลอรีนในน้ำประปาจะค่อยๆระเหยและสลายไป ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการเกิดเชื้อโรคได้ การสะสมของน้ำในถังนานๆ อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา และแบตทีเรียต่างๆ โดยเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นจากถังเก็บน้ำที่ขาดการดูแล ส่งผลนำไปสู่การเกิดโรค อาทิ โรคท้องร่วง อหิวาตกโรค เป็นต้น โดยการทำความสะอาดถังเก็บน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคดังกล่าวได้ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
นอกจากนั้นการหมั่นทำความสะอาดถังเก็บน้ำเป็นประจำสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เพราะถังเก็บน้ำที่ได้รับการดูแลทำความสะอาด ลดโอกาสการสะสมของตะกอนและสิ่งสกปรก ลดการเกิดสนิม ซึ่งทำให้อายุการใช้งานของถังนานขึ้นด้วย อีกทั้งถังเก็บน้ำเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดการสะสมของตะกอนหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ตกลงในถัง เช่น ฝุ่น, สาหร่าย หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ปะปนมาในน้ำ ซึ่งจะทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมลงและอาจทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้
อุปกรณ์สำหรับใช้การล้างถังเก็บน้ำ (แทงค์น้ำ) ด้วยตัวเอง
1. ถังเก็บน้ำ (แทงค์น้ำ): ที่ต้องการล้างทำความสะอาด
2. แปรงขัด : แปรงยาวหรือแปรงสำหรับขัดถัง โดยเลือกหัวแปรงที่ไม่นุ่มและแข็งเกินไป
3. น้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาทำความสะอาด หากไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป อาจใช้ เบกกิ้งโซดา หรือ น้ำส้มสายชู เพื่อฆ่าเชื้อได้
4. ถุงมือ: ป้องกันการสัมผัสกับสารเคมีหรือสิ่งสกปรก
5. น้ำสะอาด เพื่อใช้ล้างทำความสะอาด แนะนำให้ใช้สายยางฉีดน้ำ
6. อุปกรณ์ดูดน้ำ เช่น ถังรองน้ำ หรือ ท่อดูดน้ำ เพื่อดูดน้ำออกจากแทงค์ให้หมด
7. ผ้า หรือ สเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับการเช็ดทำความสะอาดหลังการขัด
ขั้นตอนการล้างแทงค์น้ำ
- ปิดวาล์วน้ำ โดยก่อนที่จะเริ่มทำความสะอาด ต้องปิดวาล์วน้ำที่ต่อกับแทงค์เพื่อป้องกันการไหลของน้ำเข้าไปในระหว่างทำความสะอาด
- เปิดฝาแทงค์ เพื่อเช็คความสกปรกในแทงค์น้ำ
- เทน้ำในแทงค์ออกให้หมด สามารถใช้ท่อดูดน้ำหรือเปิดวาล์วไขจุกพลาสติกที่อยู่ใต้ถังออก เพื่อระบายน้ำในถัง ถ้าถังมีน้ำมากสามารถใช้ปั๊มดูดออกได้
- ทำความสะอาดภายในแทงค์ ใช้แปรงขัดทำความสะอาดภายในแทงค์ ขัดคราบสกปรกที่สะสมอยู่ โดยเฉพาะคราบตะกอนที่อาจอยู่ที่ก้นถัง หรือหากมีเครื่องฉีดแรงดัน ให้ฉีดน้ำแรง ๆ เพื่อดันคราบตะกอน หรือสิ่งสกปรกให้หลุดออกจนสะอาด กรณีแทงค์น้ำมีคราบหนักหรือสกปรกมาก อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ปลอดภัย หรือเลือกใช้สบู่อ่อนๆ แล้วขัดทำความสะอาด
- ฆ่าเชื้อโรค หลังจากขัดทำความสะอาดแล้ว ให้ใช้ น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ น้ำยาล้างถัง ผสมกับน้ำ โดยผสมน้ำยาฆ่าเชื้อกับน้ำ (ผสมอัตราส่วนตามฉลากของน้ำยาฆ่าเชื้อ) แล้วเทลงในแทงค์น้ำ ถ้าต้องการฆ่าเชื้อแบบธรรมชาติ สามารถใช้ เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 1 ลิตร หรือใช้ น้ำส้มสายชู ประมาณ 1/4 ถ้วยผสมกับน้ำ 1 แกลลอน แล้วเทลงไปในถัง หลังจากนั้นควรทิ้งน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่ในแทงค์ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ที่อาจสะสมอยู่ในถัง
- ล้างน้ำยาฆ่าเชื้อออก โดยเปิดวาล์วน้ำให้น้ำออกออกจนหมด เพื่อชะล้างน้ำยาฆ่าเชื้อและตะกอนที่ตกค้างออกจากแทงค์ และล้างน้ำให้สะอาดจนกว่าน้ำที่ไหลออกมาจะใส ไม่มีฟองหรือน้ำยาฆ่าเชื้อเหลืออยู่ หากยังมีคราบหรือสิ่งสกปรกตกค้างอยู่ให้ทำความสะอาดอีกครั้งโดยใช้แปรงขัดซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าแทงค์น้ำสะอาดแล้ว
- เติมน้ำสะอาดกลับเข้าไปในแทงค์ ปิดวาล์วน้ำและปล่อยให้น้ำใหม่ไหลเข้าถึงถังให้เต็ม และตรวจสอบให้แน่ใจว่าน้ำที่ไหลออกมาจากถังสะอาด ไม่มีกลิ่นหรือสิ่งสกปรกตกค้าง
- ตรวจสอบการทำงาน เปิดวาล์วน้ำและตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการรั่วซึมของน้ำหรือปัญหาหลังจากล้างทำความสะอาด
ควรล้างถังเก็บน้ำ (แทงค์น้ำ) ทุกๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานและสภาพแวดล้อม โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีแรงๆ หรือผิดประเภท การล้างแทงค์น้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณใช้น้ำที่สะอาดและมีคุณภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน
แนะนำบริการล้างถังเก็บน้ำ จากการประปานครหลวง ค่าบริการเริ่มต้น 1,100 บาท
ช่องทางการติดต่อขอรับบริการล้างถังพักน้ำ
- MWA Call Center 1125 แจ้งชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้ใช้น้ำ
- ผ่านทางแอปพลิเคชั่น MWA onMobile เลือกบริการ ล้างถังพักน้ำ
- หน่วยธุรกิจเสริมด้านบริการ การประปานครหลวง โทรศัพท์ 0 2500 2802 , 0 2504 0123 ต่อ 1865
- MWA E-Service เข้าสู่ระบบ เลือกบริการ ธุรกิจเสริม > งานล้างถังพักน้ำ