“บ้านใคร ใครก็รัก” แน่นอนอยู่แล้วว่าหากคุณเจอสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับบ้านของคุณ ก็ย่อมจะรู้สึกกังวลไปต่างๆ นานา ในส่วนของปัญหาบ้านทรุด อาคารทรุด เจอโพรงใต้บ้าน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ ไปดูข้อควรสังเกตและวิธีแก้ไขปัญหาบ้านทรุดกันเลย
จุดสังเกตหรือสัญญาณเตือน
- พบโพรงใต้บ้าน
- พื้นโรงรถหรือบริเวณรอบตัวบ้านทรุดลงไป
- ผนังบ้านมีรอยร้าว
- ผนังบ้านมีรอยแยกออกจากคาน
- พื้นเอียง
สาเหตุที่ทำให้บ้านทรุด
1. พื้นดินมีความอ่อนนุ่ม ทรุดตัวง่าย
แต่ละพื้นที่ก็จะมีภูมิประเทศต่างกัน เช่น บางส่วนของกรุงเทพและปริมณฑล พื้นดินเป็นดินเหนียวปากแม่น้ำ ซึ่งลักษณะของดินจะมีความอ่อนนุ่มและทรุดตัวง่าย จึงเป็นเหตุให้บ้านทรุดตัว
2. การถมดินอย่างไม่ถูกต้อง
หากทำการก่อสร้างบ้านบนพื้นดินที่ถมใหม่ ไม่ใช่พื้นดินธรรมชาติ ก็จะมีโอกาสการทรุดตัวสูงกว่า เนื่องจากที่ดินถมใหม่ มักจะเป็นการถมที่บนพื้นที่ที่เคยเป็นบ่อน้ำหรือบ่อที่ถูกขุดหน้าดินไปขาย และถมได้ไม่นานก็ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งการถมดินที่ได้มาตรฐานควรทำการถมดินไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 6-12 เดือน และทำการบดอัดหน้าดินเป็นครั้งคราวด้วย เพื่อทำให้หน้าดินมีความแข็งตัว ป้องกันการทรุดตัวของชั้นดินในภายหลัง
3. ระบบโครงสร้างฐานรากมีปัญหา
ในการเริ่มวางแผนการก่อสร้าง หากทีมก่อสร้างไม่ได้สำรวจชั้นดินใต้บ้านให้ดี ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาหลายๆอย่างตามมา เช่น การลงเสาเข็มแต่ละด้านหยั่งอยู่บนดินต่างประเภทกัน การที่เสาเข็มลงไม่ถึงชั้นดินดาน หรือการที่เสาเข็มตั้งไม่ตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นปัญหาจากการที่ทีมก่อสร้างไม่มีความเป็นมืออาชีพ หรือมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ทำให้การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้ในอนาคต
4. การต่อเติมบ้านหรือเพิ่มน้ำหนักบนสิ่งปลูกสร้าง
โครงสร้างฐานรากที่ออกแบบมาในตอนแรก จะถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักได้ตามแผนแรกของการก่อสร้างบ้าน แต่หากในภายหลังมีการต่อเติมบ้านโดยใช้โครงสร้างฐานรากเดิม เช่นการทำหลังคาโรงรถ ต่อเติมระเบียง ชายคาบ้าน หรือทำชั้นลอยเพิ่มขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้น้ำหนักของบ้านมากเกินกว่าที่รากฐานจะรับไหวและยุบตัวลงได้
วิธีแก้ไขปัญหาบ้านทรุด รอยแตกร้าว
การแก้ไขบ้านทรุดที่เหมาะสม ต้องได้รับคำปรึกษาและการประเมินจากวิศวกรมืออาชีพ เนื่องจากปัญหาบ้านทรุด ดินทรุด มีหลายสาเหตุ ซึ่งมีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะมีวิธีการแก้ไขดังนี้
1. ถมดินเพิ่มในส่วนที่เป็นโพรงใต้บ้าน
ในกรณีที่ตัวบ้านไม่มีรอยร้าวใดๆ มีเพียงปัญหาดินยุบตัวเป็นโพรงใต้บ้านโดยไม่ได้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างฐานราก สามารถใช้วิธีถมดินเข้าไปในโพรงใต้บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและมีสัตว์รบกวนมาทำรังอยู่อาศัย
2. ฉีดโฟมโพลียูรีเทน
ในกรณีที่พื้นทรุดหรือพบรอยร้าวของบ้านเพียงเล็กน้อย และวิศวกรประเมินแล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องลงเสาเข็มใหม่ สามารถใช้วิธีฉีดสารโพลียูรีเทนเพื่อใช้เติมเต็มพื้นดินที่ทรุดตัวลงไป เสริมความแข็งแรงให้กับชั้นดิน และเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนักให้มากขึ้นภายใต้โครงสร้างฐานรากเดิม โดยการฉีดโฟมโพลียูรีเทนนี้ สารจะแทรกตัวไปตามช่องว่างของชั้นดินเข้าไปขยายตัวเพื่อยกพื้นที่ที่ทรุดลงไปได้
3. เสริมฐานรากด้วยเสาเข็ม
ในกรณีที่ปัญหาอาคารทรุดและมีรอยแตกร้าวขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุเกิดจากโครงสร้างฐานรากไม่ดีพอ ลงเสาเข็มสั้นเกินไป เสาเข็มหัก เสาเข็มตั้งอยู่บนดินต่างชนิดกัน ปัญหาโครงสร้างทั้งหมดนี้ ต้องแก้โดยวิธีลงเสาเข็มใหม่เท่านั้น โดยวิศวกรจะเป็นผู้ประเมินว่าควรใช้เสาเข็มประเภทใด เช่นเสาเข็มตอก เสาเข็มเจาะ หรือเสาเข็ม Micro Pile
ปัญหาบ้านทรุด รอยแตกร้าว เป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าของบ้าน เนื่องจากในบางกรณีการซ่อมแซมทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูง วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าคุณจะสร้างบ้านเอง หรือต่อเติมบ้านจากโครงการ ควรใส่ใจระบบโครงสร้างฐานราก จ้างวิศวกรมืออาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์ สำรวจหน้าดินก่อนทำการก่อสร้าง และลงเสาเข็มให้เพียงพอเหมาะสมกับสภาพชั้นดิน ก็จะทำให้ไม่ต้องคอยตามแก้ไขปัญหาบ้านทรุดในอนาคต