การย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อซื้อบ้านใหม่

หลังจากคุณได้ดำเนินการซื้อบ้านหรือคอนโดเรียบร้อยแล้ว อาจจะเกิดคำถามว่าจำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้านหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ขั้นตอนการย้ายยุ่งยากหรือไม่ สามารถไขข้อข้องใจได้ในบทความนี้

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านใหม่?

ในกรณีที่คุณมีบ้านหรือคอนโดหลายหลัง คุณไม่จำเป็นที่จะต้องย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านหลังใหม่ หรือไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งใครเป็นเจ้าบ้าน นอกจากคุณมีความจำเป็นหรือมีเหตุให้ต้องย้าย เช่น ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต้องการส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลในเขตนั้น ต้องการประหยัดภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายบ้านหรือคอนโดในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือในทางกฎหมายแล้ว คุณสามารถปล่อยให้ทะเบียนบ้านว่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครย้ายเข้าทะเบียนบ้านหลังนั้น

การเป็นเจ้าบ้านกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ 

หากคุณดำเนินการซื้อบ้านหรือคอนโดและได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อด้วยเงินสดหรือจำนองไว้กับธนาคาร คุณก็ถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ (แม้ว่าจะยังจำนองกับธนาคารไว้ก็ตาม) และคุณสามารถใช้เอกสารสัญญาการซื้อขายหรือโฉนด เพื่อนำไปเข้าชื่อเป็นเจ้าบ้านได้ด้วยตนเอง หรือสามารถใช้เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์นี้ในการแต่งตั้งเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านได้เช่นกัน โดยผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้านเอง ส่วนเจ้าบ้านที่ถูกแต่งตั้งก็จะมีสิทธิ์ในการแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งย้ายเข้า-ออก ให้กับสมาชิกผู้อยู่อาศัยในทะเบียนบ้านเดียวกัน แต่เจ้าบ้านที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์จะไม่มีสิทธิ์ในการดำเนินการซื้อขายโอนทรัพย์สินนั้นๆ 

สิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการย้ายทะเบียนบ้านเข้าบ้านใหม่

หากคุณมีแผนที่จะขายบ้านหรือคอนโดนี้ในอนาคตอันใกล้ การย้ายชื่อเข้าในทะเบียนบ้านหลังใหม่เกินกว่า 1 ปี จะทำให้คุณไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน ซึ่งโดยปกติหากคุณไม่ได้ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน จะต้องถือครองกรรมสิทธิ์อย่างน้อย 5 ปี จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ และหากคุณมีผู้กู้ร่วมหรือเจ้าของร่วม ก็จำเป็นต้องย้ายเข้าทะเบียนบ้านทั้งสองคน เพื่อที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ในทางกลับกัน หากคุณถือครองอสังหาริมทรัพย์ในนามนิติบุคคล แม้ว่าคุณจะย้ายชื่อผู้ที่หุ้นทุกคนเข้าทะเบียนบ้านแล้ว หรือถือครองกรรมสิทธิ์เกิน 5 ปี ก็จะยังต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยไม่มีข้อยกเว้น

ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้าน

ในปัจจุบันนี้การแจ้งย้ายปลายทางเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด เนื่องจากสะดวกทุกฝ่าย ไม่ต้องทำการย้ายออกก่อนเพื่อย้ายเข้า แค่เพียงไปแจ้งย้ายเข้าที่เขตหรืออำเภอปลายทางได้เลย เฉพาะกรณีที่เขตที่ย้ายออกและย้ายเข้าเป็นเขตเดียวกัน ถึงจะต้องดำเนินการย้ายออกก่อนและค่อยดำเนินการย้ายเข้าที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเดียวกัน แต่หากเป็นการย้ายข้ามเขต ข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด สามารถทำการย้ายปลายทางได้ทันที

กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่กับโครงการ

หากคุณซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่จากโครงการ ทางโครงการจะส่งมอบทะเบียนบ้านเล่มเปล่ามาให้คุณ​ พร้อมกับหนังสือสัญญาซื้อขายและโฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคาร เอกสารที่คุณต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา

2. ทะเบียนบ้านเดิมตัวจริงและสำเนา (ใช้ในกรณีย้ายออกและเข้าในเขตเดียวกันเท่านั้น กรณีย้ายปลายทางข้ามเขตไม่ต้องใช้ แต่สามารถนำสำเนาไปเผื่อได้)

3. ทะเบียนบ้านใหม่ตัวจริงเล่มเปล่าที่ทางโครงการเตรียมให้

4. หนังสือสัญญาซื้อขายตัวจริงและสำเนา

5. โฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคารตัวจริงและสำเนา

6. หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมีผู้กู้ร่วมหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านแทน) 

กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดมือสอง

หากเจ้าของเก่าไม่เคยย้ายเข้าในทะเบียนบ้านเลย สามารถส่งมอบทะเบียนบ้านเปล่าจากโครงการเพื่อนำไปดำเนินการต่อได้ แต่หากเจ้าของเก่าเคยทำการย้ายเข้าเป็นเจ้าบ้านแล้ว ควรให้เจ้าของเก่าดำเนินการย้ายออกให้เรียบร้อยก่อน และไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้านเล่มเก่า เนื่องจากทางเขตหรืออำเภอจะออกเล่มใหม่ให้ในกรณีไม่มีเล่มเดิมและเป็นเจ้าบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์คนใหม่ เอกสารที่คุณต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา 

2. ทะเบียนบ้านเดิมตัวจริงและสำเนา (ใช้ในกรณีย้ายออกและเข้าในเขตเดียวกันเท่านั้น กรณีย้ายปลายทางข้ามเขตไม่ต้องใช้ แต่สามารถนำสำเนาไปเผื่อได้)

3. ทะเบียนบ้านใหม่ตัวจริง (ถ้ามี) 

4. หนังสือสัญญาซื้อขายตัวจริงและสำเนา

5. โฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคารตัวจริงและสำเนา

6. หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมีผู้กู้ร่วมหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นเจ้าบ้านแทน) 

ในปัจจุบันนี้หลายเขตและอำเภอไม่ได้เรียกขอสำเนาเอกสารต่างๆแล้วเพียงแต่ต้องนำเอกสารตัวจริงไปให้ครบ แต่การเตรียมเอกสารให้พร้อมเกินกว่าที่เรียกขอก็จะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นกรณีเจ้าหน้าที่ต้องการใช้สำเนาเอกสารเพิ่มเติม 

สรุป

เมื่อคุณซื้อบ้านหรือคอนโด การย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำและไม่มีข้อกฎหมายบังคับว่าต้องทำการย้ายเข้า แต่ข้อดีของการย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่คือผลประโยชน์ทางภาษี ทั้งการประหยัดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีที่มีแผนจะขายทรัพย์สินภายใน 5 ปี ขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายโดยการแจ้งย้ายปลายทาง โดยส่วนมากจะใช้เวลาดำเนินการที่เขตหรืออำเภอประมาณ 10-30 นาทีเท่านั้น หากคุณเตรียมเอกสารไปอย่างครบถ้วน

Vijittra M.

Vijittra M.

Vijittra is an entrepreneur, a marketer and a content writer. Contributing to LandPro website's growth, she authors detailed guides that help people to understand about real estate tips in Thailand.

Vijittra has an MBA from Asian Institute of Technology and worked with Singapore based tech company, SEA Group prior to co-founding Nepal101, a boutique adventure company based in Bangkok.