โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) มีพื้นที่โครงการกว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉางและอำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง เป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยมีจุดมุ่งหมายให้สนามบินแห่งนี้เป็นเป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC
ความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุน
หลังจากที่ใช้เวลาคัดเลือกผู้ชนะการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนมานานกว่า 1 ปี 7 เดือน ในที่สุดเมกะโปรเจกต์ใหญ่ของประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็ได้กลุ่มเอกชนผู้ร่วมลงทุนคือกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส โดยในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. กับ กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสนอผลตอบแทนทั้งค่าเช่าและผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับรัฐสูงสุดถึง 3 แสนล้านบาท
กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture
กลุ่ม BBS เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทั้งสามพันธมิตรได้ร่วมจัดตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท เพื่อร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีบทบาทหลักเป็น Lead Firm มีสัดส่วนการถือหุ้น 45% สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อยู่ในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 50 ปี มีพันธมิตรทางการบินกว่า 100 สายการบินทั่วโลก และดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้น การให้บริการคลังสินค้า ร้านค้าปลอดอากร รวมถึงธุรกิจสนามบินที่เป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองรวม 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 35% จากประสบการณ์ที่มีมากกว่า 20 ปี ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหลายสาย โครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ต่างๆ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ยังได้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อโฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงทำธุรกิจทางด้าน E-Payments และเทคโนโลยีด้านระบบการเงิน ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มบริษัทบีทีเอส จะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 20% มีประสบการณ์ในงานก่อสร้างเมกะโปรเจคมากว่า 58 ปี เป็นผู้ดำเนินการด้านก่อสร้างโครงการ บนเนื้อที่ 6,500 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วยงานอาคาร งานระบบ รวมถึงงานด้านสาธารณูปโภค
สำหรับโครงการนี้ทางกลุ่มยังได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารสนามบินเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล
กลุ่มบริษัทพันธมิตรทั้งสามมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆกัน ทั้งในด้านการบิน การบริหารสนามบิน การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้บริการ ธุรกิจขนส่งมวลชน และทางด้านงานก่อสร้างที่หลากหลาย จึงสามารถคาดเดาได้เลยว่า ในอนาคตสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเป็นหนึ่งในสนามบินหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้า เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่งภาคพื้นดินในเขตจังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
แผนการดำเนินโครงการ
ทางกลุ่ม BBS ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 อาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิคในปีนี้ เป็นความภูมิใจของประเทศที่ใช้บริษัทของไทยมาพัฒนาโครงการ ที่จะผลักดันให้อู่ตะเภากลายเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาในเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล:
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)