Update โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) มีพื้นที่โครงการกว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉางและอำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง เป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยมีจุดมุ่งหมายให้สนามบินแห่งนี้เป็นเป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

ความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุน

หลังจากที่ใช้เวลาคัดเลือกผู้ชนะการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนมานานกว่า 1 ปี 7 เดือน ในที่สุดเมกะโปรเจกต์ใหญ่ของประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็ได้กลุ่มเอกชนผู้ร่วมลงทุนคือกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส โดยในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. กับ กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสนอผลตอบแทนทั้งค่าเช่าและผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับรัฐสูงสุดถึง 3 แสนล้านบาท

โครงสร้างบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture
โครงสร้างบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture

กลุ่ม BBS เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทั้งสามพันธมิตรได้ร่วมจัดตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท เพื่อร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีบทบาทหลักเป็น Lead Firm มีสัดส่วนการถือหุ้น 45% สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อยู่ในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 50 ปี มีพันธมิตรทางการบินกว่า 100 สายการบินทั่วโลก และดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้น การให้บริการคลังสินค้า ร้านค้าปลอดอากร รวมถึงธุรกิจสนามบินที่เป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองรวม 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 35% จากประสบการณ์ที่มีมากกว่า 20 ปี ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหลายสาย โครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ต่างๆ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ยังได้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อโฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงทำธุรกิจทางด้าน E-Payments และเทคโนโลยีด้านระบบการเงิน ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มบริษัทบีทีเอส จะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ

บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 20% มีประสบการณ์ในงานก่อสร้างเมกะโปรเจคมากว่า 58 ปี เป็นผู้ดำเนินการด้านก่อสร้างโครงการ บนเนื้อที่ 6,500 ไร่  ซึ่งประกอบไปด้วยงานอาคาร งานระบบ รวมถึงงานด้านสาธารณูปโภค

สำหรับโครงการนี้ทางกลุ่มยังได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารสนามบินเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล

กลุ่มบริษัทพันธมิตรทั้งสามมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆกัน ทั้งในด้านการบิน การบริหารสนามบิน การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้บริการ ธุรกิจขนส่งมวลชน และทางด้านงานก่อสร้างที่หลากหลาย จึงสามารถคาดเดาได้เลยว่า ในอนาคตสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเป็นหนึ่งในสนามบินหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้า เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่งภาคพื้นดินในเขตจังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด

ศักยภาพของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture
ศักยภาพของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือ BBS Joint Venture

แผนการดำเนินโครงการ

ทางกลุ่ม BBS ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 อาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์  อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี 
ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

แผนการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 4 ระยะ
แผนการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 4 ระยะ

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิคในปีนี้ เป็นความภูมิใจของประเทศที่ใช้บริษัทของไทยมาพัฒนาโครงการ ที่จะผลักดันให้อู่ตะเภากลายเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาในเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

แหล่งข้อมูล:
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

LandPro Thailand Editorial Team

LandPro Thailand Editorial Team

LandPro Thailand has various professionals in the real estate industry as our authors and editors.

The content written by the editorial team contains helpful and insightful information from trending topics in Thailand.