สัญญาจะซื้อจะขาย พร้อมตัวอย่างสัญญา

สัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนึ่งในเอกสารสัญญาที่ผู้ที่ตัดสินใจจะซื้อหรือจะขายอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นหลักฐานการตกลงแสดงเจตนาซื้อขาย ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยในสัญญายังสามารถระบุเงื่อนไขต่างๆ เช่น เงินวางมัดจำ กำหนดระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ หรือส่วนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆก่อนการโอน

โดยเหตุผลที่แท้จริงของเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายนั้น คือเพื่อให้ผู้ขายมั่นใจว่าอสังหาทรัพย์ของตนนั้น กำลังจะขายได้แล้วตามกำหนดเวลาในสัญญา และสำหรับผู้ซื้อนั้นมีสัญญาก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นมาซื้อตัดหน้า หรือเพื่อไม่ให้ราคามีการปรับขึ้นระหว่างที่รอโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีเงินสดเพียงพอสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์เต็มจำนวน จึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
สัญญาจะซื้อจะขายยังสามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้ในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา และยังสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย

รายละเอียดของสัญญาจะซื้อจะขาย

1. สถานที่ และวันที่ทำสัญญา

รายละเอียดส่วนนี้จะอยู่ในส่วนของหัวกระดาษ มีเพื่อให้ทราบวันที่เริ่มทำสัญญาและเป็นวันที่สัญญามีผลบังคับใช้ 

2. รายละเอียดของผู้จะซื้อและผู้จะขาย

ระบุชื่อจริง นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน อายุ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย และระบุว่าบุคคลไหนเป็น “ผู้จะขาย” และ “ผู้จะซื้อ” พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประชาชนของทั้งสองฝ่าย

3. รายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อขาย

ระบุเลขโฉนด รายละเอียดในโฉนด เนื้อที่ สถานที่ตั้ง หากเป็นบ้านหรือคอนโด ต้องระบุบ้านเลขที่และรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ด้วย รวมถึงระบุว่าทรัพย์นี้เป็นของผู้จะขาย และแนบสำเนาโฉนดทั้งหน้าและหลัง โดยต้องระบุว่าผู้จะขายรับรองว่าผู้จะขายมีสิทธิในทรัพย์นี้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีภาระผูกพัน และหากยังมีหนี้สินอยู่ ต้องทำการจ่ายหนี้สินให้หมดก่อนการโอนกรรมสิทธิ์

4. ราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

ระบุราคาซื้อขายให้ชัดเจน โดยต้องระบุทั้งตัวเลขและตัวอักษร

5. รายละเอียดวิธีการชำระเงิน

ระบุวิธีการชำระเงิน โดยระบุทั้งเงินมัดจำว่าชำระมัดจำเท่าไหร่เป็นเช็คธนาคารหรือเงินสด และระบุจำนวนเงินส่วนที่เหลือว่าต้องการแบ่งชำระอย่างไร โดยส่วนมากแล้วจะชำระจำนวนที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์ โดยต้องระบุให้ชัดเจนทั้งตัวเลขและตัวอักษร

6. รายละเอียดมัดจำล่วงหน้า

ระบุจำนวนเงินมัดจำล่วงหน้าว่าในวันทำสัญญานี้ ผู้จะซื้อ ชำระเงินมัดจำล่วงหน้าเป็นจำนวนเท่าไหร่ หากชำระเป็นเช็คธนาคารต้องระบุรายละเอียดเลขที่เช็ค ชื่อธนาคาร และควรโทรตรวจสอบกับธนาคารสาขาด้วยว่ามีการออกเช็คนั้นจริง โดยปกติเงินมัดจำจะอยู่ที่ 5%-10% ของราคาซื้อขาย และควรถ่ายเอกสารเช็คธนาคารเก็บไว้แนบสัญญาด้วย ส่วนผู้จะซื้อที่เป็นผู้ชำระมัดจำควรเก็บสำเนาเช็คธนาคารไว้กับตัวเองอีกฉบับ

7. กำหนดระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์

ระบุระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ให้ชัดเจน โดยทั่วไปมักไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรระบุให้ชัดเจนว่าต้องทำการโอนกรรมสิทธิ์ไม่เกินวันที่เท่าไหร่ สำนักงานที่ดินเขตไหน

8. ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในวันโอน ภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ

ระบุเรื่องค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อากร ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่านายหน้า ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชำระหรือชำระร่วมกัน

ดังนั้นจึงควรทราบค่าโอน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการโอนกรรมสิทธิ์ โดยสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง แนะนำบทความตรวจสอบค่าโอนที่ดินพร้อมโปรแกรมคำนวณ

9. ความรับผิดชอบกรณีผิดสัญญา

กรณีผู้จะซื้อผิดสัญญา ไม่ทำการโอนกรรมสิทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ระบุว่าสามารถริบเงินมัดจำตามสัญญาและสามารถยกเลิกสัญญาได้ ส่วนกรณีผู้จะขายทำผิดสัญญา ให้ระบุว่าผู้จะซื้อสามารถฟ้องร้องให้ผู้จะขายทำตามสัญญาและสามารถเรียกร้องเงินมัดจำคืนพร้อมทั้งค่าเสียหายเพิ่มเติมจากผู้จะขายได้

10. รายละเอียดเงื่อนไขอื่นๆ

ระบุรายละเอียดเงื่อนไขอื่นๆตามตกลง เช่น ต้องทำการปรับปรุงพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบ หรือระบุอัตราดอกเบี้ยปรับหากมีการผิดนัดการโอนกรรมสิทธิ์

11. ลงชื่อผู้ซื้อ ผู้ขาย พยาน

ลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและพยานฝ่ายละ 1 คน สัญญานี้จะทำออกมาเหมือนกันสองฉบับและเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ

12. เอกสารแนบสัญญาจะซื้อจะขาย

สำเนาบัตรประจำตัวของทั้งสองฝ่าย สำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฝ่าย สำเนาโฉนด และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะซื้อขาย

สัญญาจะซื้อจะขาย จำเป็นหรือไม่

ตามหลักการแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากตกลงราคาและเงื่อนไขกันเรียบร้อยและใช้เงินสดในการซื้อทรัพย์นั้นๆ ทั้งสองฝ่ายสามารถนัดกันที่กรมที่ดินเพื่อทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันได้เลย แต่หากผู้ซื้อต้องการมัดจำก่อนหรือต้องการขอสินเชื่อธนาคารเพื่อซื้อทรัพย์นั้นๆ ก็จำเป็นต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายให้ถูกต้อง

ตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย (ดาวน์โหลดฟรี)

1. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน

2. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน (กรณีแบ่งชำระ)

3. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

4. สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด-คอนโดมิเนียม

5. สัญญาจะซื้อจะขาย (ภาษาอังกฤษ) – Agreement to purchase and to sell (English Version)

Chalita C.

Chalita C.

Chalita is an engineer and an experienced real estate investor. She has Master Degree in IT and Management (MIT-MBA) from James Cook University, Singapore.

Her blog contents cover in-depth guidelines that help real estate investors in Thailand.