ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารแสดงความเป็นเจ้าบ้านหรือผู้อยู่อาศัย โดยต้องใช้ในการทำธุรกรรมหลายอย่าง หรือแม้แต่ใช้สมัครเข้าเรียนและทำงาน หากทำหายไปอาจเสียผลประโยชน์ พลาดโอกาสต่างๆ หรือมีปัญหาตามมาได้
เมื่อทะเบียนบ้านหาย ต้องทำอย่างไรบ้าง
หากทำทะเบียนบ้านหาย ไม่ต้องไปแจ้งความ แต่สามารถติดต่อนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเพื่อขอทะเบียนบ้านเล่มใหม่ได้ ใช้แค่บัตรประชนของเจ้าบ้านเป็นหลักฐานเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ประมาณ 20 บาท
กรณีมีเจ้าบ้าน
หากมีเจ้าบ้าน ให้เจ้าบ้านเตรียมบัตรประชาชนเป็นหลักฐานแล้วไปดำเนินการได้เลย หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้หากตัวเองไม่สะดวก ซึ่งหลักฐานที่ต้องใช้จะมี 3 อย่าง
- หนังสือมอบอำนาจ
- บัตรประชาชนของเจ้าบ้าน
- บัตรประชาชนของผู้ได้รับมอบอำนาจ
กรณีไม่มีเจ้าบ้าน
ให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไปเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่นโฉนดที่ดินหรือเอกสารการซื้อขาย โดยสามารถมอบอำนาจได้เช่นเดียวกัน
เกร็ดความรู้อื่นๆเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน
1. คำว่า “เจ้าบ้าน” ในทะเบียนบ้าน ไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของบ้าน แต่หมายถึงผู้ที่มีสิทธิในการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับทะเบียนบ้านเท่านั้น ผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้านจริงๆคือผู้ที่มีชื่อในโฉนด โฉนดคือเอกสารแสดงการถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ส่วนทะเบียนบ้านเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดที่อยู่ และระบุว่าในบ้านมีใครอาศัยอยู่บ้างเท่านั้น
2. ทะเบียนบ้านสามารถใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ สมัครเรียน และสมัครงานเท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันได้ หากจะค้ำประกันต้องใช้เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์เท่านั้น
3. สำหรับใครที่มีทะเบียนบ้านหลายเล่ม(ถือกรรมสิทธิ์บ้านหลายหลัง) สามารถเลือกใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าบ้านได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น หรือถึงแม้ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นผู้อาศัย ก็ไม่สามารถมีชื่อในทะเบียนบ้านหลายเล่มพร้อมกันได้
4. ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโด ก็จะมีเล่มทะเบียนบ้านสีน้ำเงินเหมือนกัน แตกต่างกันเล็กน้อยตรงส่วน “ประเภทบ้าน” หากเป็นบ้านก็จะเขียนไว้ว่าบ้าน หากเป็นคอนโดก็จะเขียนว่าอาคารชุด
5. สำหรับครอบครัวไหนที่เพิ่งมีลูก(เด็กแรกเกิด) แล้วต้องการเพิ่มชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้าน สามารถเพิ่มชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านได้เลย โดยใช้สูติบัตรของบุตรไปติดต่อที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ