กู้ซื้อบ้านร่วมกับแฟน สามารถทำได้หรือไม่ หากเลิกรากันในภายหลังต้องทำอย่างไร

สำหรับคู่รักที่อยู่ด้วยกันมานานและตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว การ “กู้ซื้อบ้านร่วมกัน” เพื่อเป็นการลงหลักปักฐานจึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้รอบคอบในทุกๆประเด็น แน่นอนว่าหากไม่สามารถทำการกู้คนเดียวได้ การกู้ร่วมก็เป็นวิธีที่จะทำให้มีโอกาสได้รับอนุมัติวงเงินกู้มากขึ้น

กู้ร่วม คืออะไร

การกู้ร่วม คือ การทำสัญญายื่นกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน หรือยื่นกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน โดยมีผู้ยื่นกู้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 คนภายใต้สัญญาเงินกู้เดียวกัน เพื่อเป็นการแสดงให้ธนาคารเห็นว่าจะมีคนมาช่วยรับผิดชอบชำระหนี้ และสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ครบถ้วนตามกำหนด โดยการกู้ร่วมมักจะช่วยให้การอนุมัติง่ายขึ้นและได้รับวงเงินมากขึ้นด้วย 

ใครที่สามารถกู้ร่วมกันได้บ้าง

  1. ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง สามี ภรรยา
  2. พี่น้องที่ไม่ได้ใช้นามสกุลร่วมกัน แต่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานยืนยันการเป็นพี่น้องกัน เช่นทะเบียนบ้าน สูติบัตร
  3. สามี ภรรยา
home loan approval guide ebook banner

กรณีที่เป็นแฟนกัน แต่งงานกันแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถกู้ร่วมได้หรือไม่

หากแต่งงานกันแล้ว สามารถกู้ร่วมได้ โดยดำเนินการกู้ร่วมเป็น สามี ภรรยาที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส โดยใช้หลักฐาน เช่น รูปถ่ายวันแต่งงาน รูปถ่ายงานหมั้น พรีเวดดิ้ง ทะเบียนบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกัน หรือหากมีบุตรด้วยกัน สามารถใช้สูติบัตรบุตรได้

กรณีที่เป็นแฟนกัน แต่ยังไม่ได้แต่งงานและไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถกู้ร่วมได้หรือไม่

สถาบันการเงินส่วนมากจะไม่อนุญาตให้คู่รักที่ยังไม่แต่งงานกัน กู้ร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคู่รักที่อยู่ร่วมกันมานาน เพียงแค่ไม่ได้เข้าพิธีแต่งงาน คุณสามารถแสดงหลักฐานการอยู่ร่วมกัน เช่น ทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หากมีบุตร สามารถแสดงใบสูติบัตรบุตร หรือใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจที่ระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินอาจจะมีนโยบายและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

สำหรับแฟนเพศเดียวกัน ในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายรองรับให้สามารถกู้ร่วมกันได้ แต่สามารถใช้วิธีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและใช้นิติบุคคลเป็นผู้กู้ซื้อทรัพย์สินได้ แต่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกับการกู้โดยบุคคลธรรมดา โดยจำมีความซับซ้อนมากกว่า

สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนกู้ร่วม

  1. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ร่วม ว่าผ่านเกณฑ์ผู้กู้ของสถาบันการเงินหรือไม่ หากมีจุดไหนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อยื่นเอกสารในภายหลังได้
  2. ต้องมีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากเงินเดือน หรือรายได้จากกิจการส่วนตัว
  3. รายได้ของผู้กู้ร่วมรวมกัน จะต้องมีสัดส่วนที่เพียงพอต่อเกณฑ์การผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน
  4. สถาบันการเงินจะตรวจสอบประวัติเครดิตบูโร หากผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต หรือประวัติการชำระหนี้อื่นๆ จะช่วยให้ธนาคารอนุมัติได้ง่ายขึ้น
  5. ก่อนทำการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์และยื่นกู้ ผู้กู้ร่วมต้องทำการตกลงกันให้เรียบร้อยในเรื่องของกรรมสิทธิ์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ และการผ่อนชำระ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง

หากเลิกรากันในภายหลัง ต้องทำอย่างไร

สำหรับการกู้ร่วม กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์สามารถระบุได้ 2 แบบ คือการใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่มีผู้กู้ร่วมหลายคน และการใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้จะมีความซับซ้อนหากมีกรณีเลิกรา เนื่องจากการขายอสังหาริมทรัพย์ จะสามารถกระทำได้เมื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนต้องยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร หรือกรณีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของคนใดคนหนึ่ง จะสามารถทำได้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการโอน ภาษี อากรแสตมป์ หรือภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ซึ่งหากทรัพย์สินมีราคาประเมินสูง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะสูงตามไปด้วย โดยวิธีแก้ปัญหาในกรณีเลิกรากัน จะสามารถทำได้ดังนี้

1. ถอนชื่อผู้กู้ร่วม

ในกรณีที่จดทะเบียนสมรส จะต้องจดทะเบียนหย่า และนำใบหย่าไปขอถอนชื่อออกจากสัญญาเงินกู้ แต่ทั้งนี้ทางธนาคารจะต้องประเมินก่อนว่าผู้กู้อีกคนจะมีความสามารถในการชำระหนี้คนเดียวได้หรือไม่ โดยทางธนาคารจะทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่และอาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบและเงื่อนไขของสินเชื่อด้วย ส่วนกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็จะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ไม่ต้องนำใบหย่าไปแสดง เพียงแค่ต้องแจ้งความประสงค์กับธนาคารและกำหนดกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ใหม่ โดยทางธนาคารจะทำการประเมินความสามารถผู้กู้และทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่เช่นกัน

2. รีไฟแนนซ์สินเชื่อจากการกู้ร่วมเป็นการกู้เดี่ยว

กรณีที่ธนาคารไม่อนุมัติให้เปลี่ยนสัญญาเป็นการกู้เดี่ยว เนื่องจากทำการประเมินแล้วว่าผู้กู้ ไม่สามารถชำระหนี้ไ้ด้ โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ รายได้ของผู้กู้เดี่ยว, ภาระหนี้สินอื่นๆ, เครดิตบูโร วิธีการรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่น จึงเป็นทางออกอีกทางสำหรับการยื่นเรื่องขอกู้เดี่ยว

3. ขายอสังหาริมทรัพย์และแบ่งทรัพย์สินกัน

วิธีนี้เป็นทางออกที่นิยมทำกันมาก ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครต้องการกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนี้แล้วและไม่ต้องการเปลี่ยนจากกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยว แต่อย่างไรก็ตามการขายอสังหาริมทรัพย์ต้องได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่าย และในบางครั้งอาจจะไม่สามารถขายต่อได้ในทันที หากใช้เวลานานในการขาย ผู้กู้ก็ยังต้องทำการผ่อนกับธนาคารต่อไปในช่วงที่ยังไม่สามารถขายทรัพย์สินได้

ไม่ว่าจะเป็นคู่รักที่แต่งงานกันแล้วหรือยังไม่แต่งงานกันก็ตาม การกู้ซื้อบ้านร่วมกันก็เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจให้ดี เนื่องจากเป็นภาระผูกพันในระยะยาว และมีค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอนหากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญา ดังนั้น หากจะตกลงทำการกู้ร่วมกับใคร จึงควรทำข้อตกลงเอาไว้ให้รัดกุมทั้งในเรื่องสัดส่วนการผ่อนชำระ กรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ และความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายต่างๆร่วมกัน หากคุณกำลังพิจารณาจะกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกู้ได้เท่าไหร่ รายได้เพียงพอต่อการผ่อนค่างวดหรือไม่ สามารถคิดคำนวณเงินกู้ได้ผ่านช่องทางนี้

“เครื่องคิดเลขเงินกู้”

Vijittra M.

Vijittra M.

Vijittra is an entrepreneur, a marketer and a content writer. Contributing to LandPro website's growth, she authors detailed guides that help people to understand about real estate tips in Thailand.

Vijittra has an MBA from Asian Institute of Technology and worked with Singapore based tech company, SEA Group prior to co-founding Nepal101, a boutique adventure company based in Bangkok.