เมื่อคุณต้องดำเนินเรื่องขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารจะสนับสนุนให้ผู้กู้ทำประกันพ่วงกับการกู้บ้านไปด้วย คำถามคือ เราจำเป็นต้องทำประกันเมื่อกู้บ้านหรือไม่ ในบทความนี้จะแบ่งเป็น “ประกันที่ต้องทำ” และ “ประกันที่ควรทำ” โดยประกันทั้งสองแบบมีรายละเอียดดังนี้
ประกันที่ต้องทำ – ประกันอัคคีภัย
ประกันที่ทางธนาคารจะขอให้ผู้ขอสินเชื่อต้องทำคือ “ประกันอัคคีภัย” เนื่องจากธนาคารต้องนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ธนาคารจึงต้องให้ผู้กู้ทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดกับตัวบ้าน ซึ่งประกันนี้จะรวมถึงความคุ้มครองกรณีไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากการถูกชนโดยยานพาหนะหรืออากาศยาน หรือภัยเนื่องจากน้ำ และยังสามารถซื้อความคุ้มครองในส่วนภัยพิบัติ เช่น ภัยน้ำท่วม ลมพายุ และแผ่นดินไหว เพิ่มเติมได้อีกด้วย
โดยค่าเบื้ยประกันต่อปีจะคิดเป็นประมาณ 0.1% – 0.3% ของทุนเอาประกัน โดยสามารถจ่ายค่าเบี้ยเป็นแบบปีต่อปี หรือทุกๆ 2-3 ปี ซึ่งหากเลือกความคุ้มครองนาน จะมีค่าเบี้ยประกันที่ต่ำกว่า และค่าเบี้ยประกันอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง โดยจะคิดจากมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างไม่รวมที่ดิน
ประกันที่ควรทำ – ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ MRTA (Mortgage Reducing Term Insurance)
ประกันที่ผู้ขอสินเชื่อควรพิจารณาทำ คือ “ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ” หรือ MRTA โดยธนาคารจะไม่บังคับให้ทำ แต่จะเป็นการขอร้องให้ทำ หรือจูงใจให้ทำโดนยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าในด้านของดอกเบี้ยเงินกู้และวงเงินกู้เมื่อผู้ขอสินเชื่อทำประกันนี้พ่วงไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของธนาคารในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อ
โดยประกันประเภทนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประกันชีวิต แต่มีจุดประสงค์หลักในการชำระหนี้เงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัย โดยจะมีผู้รับผลประโยชน์หลักลำดับแรกคือธนาคารเจ้าหนี้ และเงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้จะตกเป็นของทายาทโดยชอบธรรมหรือผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้
ประโยชน์ของการประกัน MRTA มีดังนี้
1. สร้างความเชื่อมั่นให้กับธนาคารเจ้าหนี้
ในกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิง ทางบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยตามรายละเอียดที่ได้ทำประกันไว้แทนผู้กู้ จึงทำให้ธนาคารเจ้าหนี้เกิดความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้จากกรมธรรม์นี้
2. ภาระการผ่อนบ้านจะไม่ตกเป็นของครอบครัวในภายหลัง
ครอบครัวของผู้กู้จะได้รับประโยชน์จากการประกันความเสี่ยงนี้เช่นกัน โดยหากมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทางบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระหนี้บ้านให้ ทำให้ภาระการผ่อนบ้านไม่ตกเป็นของครอบครัว และไม่เกิดกรณีการถูกยึดบ้านหากครอบครัวไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้
3. ได้รับเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีกว่าจากธนาคาร (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และวงเงินกู้)
ธนาคารเจ้าหนี้จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงในด้านของความเสี่ยงหากผู้กู้ตัดสินใจทำประกันนี้ ธนาคารจึงต้องสร้างแรงจูงใจโดยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหรือวงเงินการกู้ที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับผู้กู้ที่ไม่ทำประกัน
4. ค่าเบี้ยประกันนำมาลดหย่อนภาษีได้
กรณีที่ผู้กู้ชำระค่าเบี้ยประกันในครั้งเดียว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ในปีที่ชำระเบี้ยประกัน (สำหรับประกันที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป)
สำหรับเบี้ยประกันที่ต้องชำระ จะขึ้นอยู่กับเพศและอายุของผู้ขอสินเชื่อ ทุนประกัน และระยะเวลาความคุ้มครอง โดยเพศหญิงที่อายุน้อยจะมีค่าเบี้ยประกันที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับผู้กู้เพศชายหรือผู้กู้ที่มีอายุมาก ค่าเบี้ยประกันมักจะจ่ายเป็นก้อนเดียวในตอนทำสัญญาขอสินเชื่อ หรือบางธนาคารอาจจะให้ผ่อนชำระค่าเบี้ยได้โดยคิดรวมไปกับวงเงินสินเชื่อ
ผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกตัดสินใจได้ว่าต้องการทำประกัน MRTA หรือไม่ โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของตนเอง หากผู้กู้เป็นหัวหน้าครอบครัว รับภาระในการผ่อนสินเชื่อเพียงคนเดียว และครอบครัวมีรายได้น้อย ไม่มีเงินออมหรือเงินประกันชีวิตส่วนอื่นที่สามารถนำมาจ่ายชำระหนี้เงินกู้ได้กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ก็ควรพิจารณาทำประกัน MRTA ควบคู่กับการขอสินเชื่อเพื่อไม่ให้ภาระตกเป็นของครอบครัวในภายหลัง แต่หากผู้กู้และครอบครัวมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ทั้งหมด มีเงินออม ทรัพย์สินและเงินประกันส่วนอื่นๆมากพออยู่แล้ว หรือวางแผนจะโปะและปิดสินเชื่อก้อนนี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำประกันประเภทนี้ ซึ่งมีเบี้ยประกันค่อนข้างสูง
สรุป
การซื้อกรมธรรม์ประกันภัยและประกันชีวิตเป็นวิธีที่ช่วยให้เราลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ ทั้งผลกระทบกับตนเองและครอบครัว การตัดสินใจซื้อบ้านและขอวงเงินสินเชื่อ ผู้กู้จึงไม่ควรมองข้ามการทำประกันทั้งสองแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของครอบครัว